ส่วนประกอบของระนาดเอก





ส่วนประกอบของระนาดเอก
           ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับดนตรีดูได้จากการออกแบบสร้างเครื่องดนตรี โดยทั่วไปนักดนตรีมักจะเลือกซื้อเครื่องดนตรีชิ้นที่ตนเองชอบ และเลือกเครื่องดนตรีที่มีเสียงดีไว้ก่อน เมื่อได้เครื่องดนตรีที่มีเสียงดีตามต้องการแล้วจึงจะดูลักษณะเครื่องดนตรีว่าสวยงามหรือไม่ รูปร่างหรือส่วนสัดของเครื่องดนตรีมีความสวยงามเหมาะสมเพียงใด ดังนั้นเครื่องดนตรีไทยทุกชนิดจะมีการประดับด้วยวัสดุที่งดงามและออกแบบลวดลายให้เกิดความสวยงามเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ ต่อไปนี้จะกล่าวถึงงานศิลปะที่ปรากฏบนระนาดเอกไว้พอเป็นสังเขป   ดังนี้ ส่วนประกอบของระนาดเอกนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
   1. รางระนาดเอก
   2. ผืนระนาดเอก
   3. ไม้ตีระนาด

รางระนาดเอก
         ตัวรางทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้สัก ไม้มะริด ไม้มะเกลือ ไม้ประดู่ เป็นต้น รูปร่างคล้ายเรือสมัยโบราณ คือตอนกลางป่องเป็นกระพุ้งเล็กน้อยเพื่อให้เสียงก้องกังวาน ตอนหัวและท้ายโค้งงอนขึ้นเรียกว่า "ฝาประกบ" มี 2 แผ่น บนขอบรางด้านบนทั้งสองข้างของฝาประกบจะใช้หวายเส้นซึ่งมีผ้าพันโดยรอบ ติดเป็นแนวยาวไว้ตลอด เพื่อรองรับผืนระนาดขณะที่ลดลงจากตะขอเกี่ยว ป้องกันบริเวณใต้ท้องของผืนระนาดมิให้ถูกครูดเป็นรอยได้ง่าย ที่ขอบของฝาประกบด้านนอกจะเซาะร่องเดินเป็นคิ้วไว้เพื่อความสวยงาม นอกจากทาสีที่คิ้วขอบรางแล้ว ที่ไม้ฝาประกบยังเดินเส้นดำหรือขาวไปตามขอบคิ้วรางทั้งด้านล่างและด้านบนรวมไปถึงโขนระนาดด้วย บางรางเดินเส้นเดียวบางรางเดินคู่สองเส้นแล้วแต่รสนิยมของช่างผู้ประดิษฐ์ ต่อมาการสร้างรางระนาดได้มีการพัฒนาให้สวยงามขึ้นอีกโดยทำขอบคิ้ว ซึ่งประกอบด้วยงาช้างหรือตัวรางทั้งหมดแกะเป็นลวดลายต่างๆ บางทีก็ประดับลวดลายด้วยมุกหรือแกะลวดลายลงรักปิดทองเป็นต้น

 
โขนระนาด         
         โขนระนาด เป็นไม้ 2 แผ่นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ติดประกบไว้ที่หัวและท้ายของไม้ฝาประกบโดยเฉพาะด้านในตอนบนจะติด "ตะขอระนาด" ซึ่งทำด้วยโลหะโค้งงอ สำหรับสอดคล้องเชือกขึงผืนระนาดให้ลอยอยู่บนราง ด้านล่างของรางมีแผ่นไม้บางๆปิดไว้ยาวโดยตลอดเพื่อยึดฝาประกบและโขนให้ติดเข้าด้วยกันเรียกว่า "ไม้ปิดใต้ท้องระนาด" ทำให้อุ้มเสียงและระนาดมีเสียงดังกังวานมากขึ้น

เท้าระนาด       
         เท้าระนาด (บางทีเรียกฐานระนาด) ทำด้วยไม้หนามีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายฐานของพานรอง ตรงกลางเป็นคอคอดส่วนตอนบนโค้งเว้าไปตามท้องราง เท้าระนาดยึดติดอยู่ที่กลางลำตัวของรางระนาดเพื่อให้หัวและท้ายของรางลอยตัวสูงขึ้น ฐานด้านล่างนิยมแกะสลักเป็น"ลายฐานแข้งสิงห์" ทั้ง 4 ด้าน ที่ฝาไม้ประกบตอนบนและตอนล่างจะใช้ไม้ติดประกบโดยตลอดเรียกว่า "คิ้วขอบราง" นิยมทาสีขาวหรือดำเพื่อตัดกับสีของแล็คเกอร์ซึ่งทาไว้ที่ตัวรางระนาด

ผืนระนาด
         ผืนระนาด เดิมทำด้วยไม้ไผ่ตง(นักดนตรีเรียก ไผ่บง) นำมาตัดเหลาด้วยความประณีตเป็นลูกๆ มี 21 ลูก ขนาดลดหลั่นกันตามลำดับเรียกว่า " ผืนระนาด" ใช้แขวนที่ตะขอทั้ง 4 บนโขนระนาด ใต้ลูกระนาดทั้ง 21 ลูกจะติดตะกั่วซึ่งทำด้วย ตะกั่วและขี้ผึ้งผสมกัน เพื่อถ่วงเสียงให้ได้เสียงสูงเสียงต่ำตามต้องการโดยติดไว้ที่ใต้ลูกระนาดตรงด้านล่างของปลายลูกระนาดทั้งสองข้างๆละ 1 ก้อน จำนวนที่ติดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับเสียงที่ต้องการ ถ้าติดมากเสียงจะต่ำลง ถ้าติดน้อยเสียงจะสูงขึ้น ต่อมาภายหลังนิยมนำ ไม้ชิงชัน หรือ ไม้มะหาด มาเหลาเป็นผืนระนาดได้เสียงเล็ก แหลมกว่าผืนระนาดที่ทำด้วยไม้ไผ่ นอกจากนั้นในสมัยปัจจุบันได้เพิ่มลูกระนาดเอกให้มี 22 ลูก เพื่อให้บรรเลงกับวงปี่พาทย์มอญได้สะดวก แต่ในวงปี่พาทย์เสภาเดิมไม่นิยม เพิ่มลูกระนาดคงใช้เพียง 21 ลูกเท่านั้น















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น